วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประวัติและคติความเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่อง เทียน

ชาวพุทธที่นับถือพระพุทธศาสนา มีความเชื่อศรัทธาในพระรัตนตรัย ทำเทียนจากขี้ผึ้งกับพระพุทธศาสนานั้น มีมาตั้งแต่พุทธกาลจากนิทานชาดกในพระธรรมบทเรื่องวานรถวายรวงผึ้งแด่พระพุทธองค์ ทำให้วานร ได้รับผลานิสงส์มากไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางอัปสรเป็นบริวารนับพัน การให้แสงสว่างเป็นทานนับว่าเป็นประโยชน์มาก ทั้งการให้แสงสว่างเพื่อการมองเห็น และการให้แสงสว่างทางปัญญา มีเรื่องเล่าว่า
พระอนุรุทธะ พุทธสาวกเป็นผู้มีปัญญาอันเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด รู้อรรถ รู้พระธรรมวินัยแตกฉาน จนเป็นเอตทัคคะทางจักขุทิพย์ ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสว่าในชาติปางก่อนพระอนุรุทธะได้ให้แสงสว่างเป็นทาน จึงมีปัญญาเฉลียวฉลาด ดังนั้นความเชื่อในเรื่องถวายประทีป โคมไฟ และเทียนเพื่อให้แสงสว่างเพื่อสักการะแด่พระรัตนตรัย จึงได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ในเดือนแปดเป็นงานบุญเข้าพรรษา ระหว่างที่พระสงฆ์จำพรรษาตลอดไตรมาส ชาวพุทธทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องถวายความอุปถัมภ์แก่พระสงฆ์ด้วยจตุปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นอันควรแก่สมณะอุปโภค บริโภค สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการถวายธูปเทียนและน้ำมันเพื่อจุดให้แสงสว่าง และจุดบูชาพระรัตนตรัย เนื่องจากในอดีตแสงสว่างจากไฟฟ้ายังไม่ทั่วถึง การจุดไต้ (กระบอง) จุดตะเกียงจากน้ำมัน และจุดเทียน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพระสงฆ์ที่จะต้องใช้แสงสว่างเพื่อการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยในการประกอบศาสนกิจอีกด้วย ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ยึดถือเป็นประเพณี นำเทียนไปถวายพระรัตนตรัยในเทศกาลเข้าพรรษา ก็เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้มีปัญญาอันเฉลียวฉลาด มีไหวพริบประดุจแสงสว่างของดวงเทียน และ ส่วนหนึ่งยังมีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยโดยกำหนดให้เทียนที่ทำขึ้นมาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในเรื่องของความเป็นสิริมงคลในโอกาสประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เรียกว่า “ เทียนมงคล ”
จำแนกได้ตามลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
๑. การจำแนกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เทียนประเภทนี้ทำขึ้น เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีสะเดาะเคราะห์ จะทำขั้นตามขนาดความยาวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สำคัญคือ
๑.๑ เทียนเวียนหัว ใช้ความยาวขนาดรอบศีรษะ ๑.๒ เทียนค่าศอก ใช้ความยาวขนาดเท่าข้อศอก ๑.๓ เทียนค่าคึง ใช้ความยาวขนาดเท่ากับความยาวของลำตัว ซึ่งวัดจากใต้คางถึงสะดือ ๒. การจำแนกตามองค์ประกอบของชีวิตตามหลักพุทธศาสนา เทียนประเภทนี้ที่สำคัญมี ๒ อย่าง คือ ๒.๑ เทียนขันธ์ ๕ ถือว่าชีวิตประกอบด้วยสองส่วนประกอบที่สำคัญ ๕ ประการ เรียกว่า ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร
และวิญญาณ เทียนขันธ์ ๕ นี้ไม่จำกัดขนาดและความยาว แล้วแต่ความเหมาะสม มีจำนวน ๕ คู่ หรือ ๑๐ เล่ม ๒.๒ เทียนขันธ์ ๘ ถือว่าเป็นความเชื่อตามหลักมรรคมีองค์ ๘ ขนาด และความยาวแล้วแต่ความเหมาะสมเช่นเดียวกับเทียนขันธ์ ๕
มีจำนวน ๘ คู่ หรือ ๑๖ เล่ม การใช้เทียนมงคลประเภทต่าง ๆ มักจะใช้คู่กับดอกไม้และธูปเสมอ ซึ่งมักมีจำนวนเท่า ๆ กับเทียนด้วย ๓. จำแนกตามลักษณะเฉพาะเทียนประเภทนี้แบ่งตามรูปลักษณ์ หรือโอกาสที่ใช้ งานมงคลที่สำคัญมี ๔ อย่างคือ ๓.๑ เทียนชัย มีขนาดและความยาวตามแต่จะกำหนดใช้ในพิธีสำคัญทางศาสนา เช่น พิธีสมโภชพระพุทธรูป หรือพิธีพุทธาภิเษก
เพื่อให้ผู้เป็นประธานจุด โดยทั่วไปจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๑ นิ้วขึ้นไป
๓.๒ เทียนแพ นิยมใช้เทียนหลายเล่มมัดติดกันเป็นตับ และมีส่วนประกอบที่สำคัญคือธูประกำ ซองจะมัดรวมเป็นตับ เช่นเดียวกัน
ให้ธูประกำอยู่บนเทียน ใช้ในโอกาสพิธีสำคัญ ๆ เพื่อแสดงความเคารพ สักการะบูชาเถระผู้ใหญ่ เป็นต้น ไม่ใช้สำหรับจุดไฟ ๓.๓ พุ่มเทียน เป็นเทียนประดิษฐ์ มีลักษณะเป็นพุ่มนิยมใช้เทียนขนาดเล็กมามัดรวมกันทำเป็นพุ่ม ใช้ในพิธีทางศาสนา เช่น เทศ- กาลเข้าพรรษา หรือในพิธีอุปสมบท(บวชพระ) ๓.๔ ต้นเทียน เป็นเทียนที่ทำขึ้นขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น ตามต้องการ นิยมจัดทำขึ้นในเทศกาลเข้าพรรษา
จัดว่าเป็น “เทียนมงคล” ด้วยเหมือนกัน สำหรับจัดไว้ในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษา จนถึงวันออกพรรษา
การจัดทำเทียนพรรษามีวัฒนาการมาเป็นลำดับจากการนำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่นเป็นเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย และนำไปถวายพระสงฆ์ การนำเทียนเล่มเล็กๆหลายๆเล่มมามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายต้นกล้าหรือลำไม้ไผ่แล้วนำไปติดตั้งกับฐาน การมัดรวมเทียนแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำต้นเทียนและกลายเป็น “ต้นเทียนพรรษา” ในสมัยต่อมาเทียนพรรษานั้น ได้จำแนกออกเป็น ๒ ชนิด ได้แก่ ๑. เทียนพรรษาแบบจุดได้ สามารถให้แสงสว่างซึ่งมีขนาดและกำหนดเป็นมาตรฐาน ผิวเรียบและลวดลายที่เกิดจากพิมพ์ ไม่สามารถที่จะนำมาแกะได้ ๒. ส่วนเทียนพรรษาที่จัดทำขึ้นเอง เทียนประเภทนี้มีขี้ผึ้งผสมอยู่ ๖๐–๗๐%มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๑๕, ๒๐, ๒๕, ๓๐ ซม. เทียนประเภทนี้ไม่มีไส้ ผู้ทำจะนำเอาไม้ หรือเหล็กมาทำเป็นแกน (เพื่อความแข็งของต้นเทียนที่จะนำมาแกะ)ก่อนเทเทียนห่อหุ้ม ผู้ทำจะนำเอาเชือกมาพันให้ตลอดแกน ก่อนจะนำเข้าพิมพ์หล่อ ก่อนนำเทียนมาหล่อห่อหุ้ม เมื่อแข็งตัวแล้วจึงนำแกะสลักตกแต่ง เทียนพรรษาชนิดนี้จุดไม่ได้ จัดทำเพื่อการประกวดความสวยงาม ถวายเป็นพุทธบูชาอย่างเดียวเท่านั้น
เทียนที่จะนำมาประกวด แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทคือ ๑. ประเภทมัดรวมติดตาย ๒. ประเภทติดพิมพ์ ๓. ประเภทแกะสลัก ต้นเทียนทั้ง ๓ ประเภทนี้ มีประวัติความเป็นมา อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ สมัย ดังนี้ สมัยแรก (พ.ศ. ๒๕๔๔–๒๕๗๙) การคิดทำต้นเทียนจะทำลักษณะง่าย ๆ โดยนำเทียนเล่มเล็ก ๆ มามัดรวมกันด้วยเชือก หรือป่าน และต่อเทียนที่มัดแล้วให้เป็นลำต้นสูงตามความต้องการ แล้วใช้กระดาษสีพันรอบ ๆ ก็ถือว่าสวยงามเพียงพอแล้ว เป็นการลงทุนที่ไม่มากนัก ต่อมามีการทำต้นเทียนให้ใหญ่โต และมีการใช้ทุนมากขึ้น จะทำโดยลำพังตนเองไม่ได้ จึงมีการรวมกลุ่มกันทำเป็นคุ้ม ๆ ไป ตามชื่อวัดในละแวกนั้นมาไม่ได้ขาด จนกระทั่งสมัยกลาง
สมัยกลาง (พ.ศ. ๒๔๘๐–๒๕๐๑) การจัดทำต้นเทียนได้ทำอย่างจริงจังใน พ.ศ. ๒๔๘๐ และได้วิวัฒนาการสลับซับซ้อนมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากที่เคยทำมาอย่างมาก มีการพิมพ์ลายดอกผึ้งเป็นลายต่าง ๆ จากแบบพิมพ์ที่ทำขึ้น แบบพิมพ์จะแกะสลักจากต้นกล้วยบ้างและผลไม้บางชนิดบ้าง เช่น มะละกอ ฟักเขียว ฟักทอง มันเทศ เป็นต้น เมื่อทำแบบพิมพ์ลายต่าง ๆ เสร็จแล้ว จะนำไปจุ่มลงในน้ำขี้ผึ้งที่ต้มจนหลอมละลาย แล้วนำแบบพิมพ์ที่ขี้ผึ้งติดอยู่ ไปจุ่มในน้ำเย็นอีกครั้งหนึ่ง จะได้ลายดอกขี้ผึ้งตามแบบพิมพ์ลายดอกต่าง ๆ แล้วไปติดกับต้นเทียนที่หล่อไว้แล้ว ตลอดจนส่วนฐานและองค์ประกอบอื่น ๆ ให้มีลวดลายงามตามรูปแบบที่คิดไว้ วิธีการเช่นนี้นับว่าเป็นต้นแบบการจัดทำต้นเทียน “ประเภทติดพิมพ์" การพิมพ์ลายดอกลงในแบบพิมพ์ที่ทำจากผลไม้ หรือไม้เนื้ออ่อนทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา ต่อมา “นายโพธิ์ ส่งศรี” ซึ่งเคยเป็นช่างออกแบบก่อสร้างมาก่อน จึงคิดวิธีแกะสลักลายแบบพิมพ์ ลงบนไม้สีดา (ต้นฝรั่ง) ซึ่งมีเนื้อไม้แข็งทนทาน ลายที่แกะสลักลงเป็นลายง่าย ๆ เช่น ลายประจำยาม กระจังตาอ้อย ใบเทศ บัวคว่ำ บัวหงาย ก้ามปู กรุยเชิง เป็นต้น วิธีทำลายดอกจะใช้ขี้ผึ้งที่หลอมละลายแล้วเทลงบนแบบพิมพ์ รอจนกว่าขี้ผึ้งที่หลอมละลายแล้วเทลงบนแบบพิมพ์ รอจนกว่าขี้ผึ้งเย็นจึงแกะออกจากแม่พิมพ์ แล้วนำไปติดต้นเทียน ซึ่งต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ได้มีชื่อเสียงมากจนถึงปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕
สมัยปัจจุบัน ได้มีการฟื้นฟูการทำเทียนพรรษา และการแห่เทียนพรรษา กำหนดให้มีการประกวดเทียน ๒ ประเภทคือ
ประเภทมัดรวมติดลาย และประเภทติดพิมพ์ สำหรับเทียนพรรษาที่ใหญ่ที่สุด เป็นประเภทติดพิมพ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๔ นิ้ว สูง ๔ เมตร ๙ นิ้ว น้ำหนัก ๒ ตันเศษ ตั้งอยู่ที่วัดท่าไม้ ต.ท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร สามารถจุดได้ในเทศกาลสำคัญ ครั้งแรกจุดเฉลิมในพิธีกาญจนาภิเษกวันวิสาขบูชาที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ศกเดียวกัน.

ไม่มีความคิดเห็น: